บทความน่ารู้


อัล-ฟะรออิฎ บทว่าด้วยการแ่บ่งมรดก

 

ในบทนี้ประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.   ผู้รับมรดกตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนด (อัศหาบ อัลฟุรูฎ)

2.   ส่วนที่เหลือ (อัลอะเศาะบะฮฺ)

3.   การกั้นสิทธิ์ (อัลหะญับ)

ความสำคัญของรายวิชาการแบ่งมรดก

วิชาการแบ่งมรดก  เป็นรายวิชาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  มีเกียรติอย่างสูงส่ง  และผลบุญของมันยิ่งใหญ่นัก  อันเนื่องมาจากความสำคัญของรายวิชานี้อัลลอฮฺได้ทรงแบ่งจัดสรรด้วยกับตัวของพระองค์เอง  ดังนั้นพระองค์ได้แจกแจงให้แก่ทายาทแต่ละคนที่จะได้รับมรดก  โดยได้อธิบายรายละเอียดเอาไว้ส่วนมากแล้วจะปรากฏอยู่ในโองการต่างๆ ที่เป็นที่รู้กัน  เนื่องจากทรัพย์สินและการแบ่งจัดสรรเป็นศูนย์รวมความละโมบของมวลมนุษย์  และเรื่องมรดกส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง  ผู้ใหญ่กับเด็ก  และผู้ที่อ่อนแอกับผู้ที่แข็งแรง  ดังนั้นวิชานี้มีไว้เพื่อไม่ให้มนุษย์คิดวิเคราะห์หรือแบ่งปันกันตามอารมณ์ความรู้สึก

ด้วยเหตุผลดังกล่าวอัลลอฮฺจึงได้จัดสรรด้วยตัวพระองค์เอง  โดยได้อธิบายรายละเอียดไว้ในคัมภีร์ของพระองค์  และได้ให้ความเท่าเทียมกันระหว่างทายาทผู้รับมรดกเพื่อให้ดำเนินไปด้วยความยุติธรรมและเกิดผลประโยชน์ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงรอบรู้ดี

สภาพการณ์ของมนุษย์

สำหรับมนุษย์มี2  สภาพการณ์ด้วยกัน  คือ  สภาพตอนที่มีชีวิต  และสภาพตอนที่เสียชีวิต  สำหรับวิชาการแบ่งมรดกส่วนมากแล้วเป็นบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการตาย  ดังนั้นวิชาการแบ่งมรดกเป็นครึ่งหนึ่งของวิชาความรู้  ซึ่งมนุษยชาติจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ

ในสมัยญาฮิลียะฮฺพวกเขาจะแบ่งมรดกแก่ผู้ใหญ่เท่านั้นโดยไม่แบ่งให้เด็ก  จะแบ่งให้เฉพาะผู้ชายโดยไม่แบ่งให้ผู้หญิง  และในยุคญาฮิลียะฮฺร่วมสมัยพวกเขาได้มอบให้ผู้หญิงในสิ่งที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง  หน้าที่การงานและทรัพย์สมบัติ  ดังนั้นยิ่งเพิ่มทวีความชั่วมากยิ่งขึ้นและความเสื่อมเสียได้แพร่กระจาย

สำหรับศาสนาอิสลาม  ได้ให้เกียรติแก่ผู้หญิงและได้ให้สิทธิของพวกเธอตามความเหมาะสมเหมือนกับที่ได้มอบให้แก่บุรุษเพศ  และได้มอบให้แต่ละบุคคลตามสิทธิที่ควรได้รับอย่างมีดุลยภาพและยุติธรรม

วิชาการแบ่งมรดก

เป็นรายวิชาที่ว่าด้วยการรู้ถึงว่าใครเป็นผู้ที่ควรได้รับมรดกและใครเป็นผู้ไม่สมควรได้รับ  และรู้ถึงปริมาณในการรับมรดกของทายาทแต่ละคน

เนื้อหาสารัตถะ อัตตะริกาต  คือ  สิ่งที่ผู้ตายได้ละทิ้งไว้ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของต่างๆ

ผลที่จะได้รับ    ทายาทจะได้รับสิทธิต่างๆ อย่างถูกต้องตามความเหมาะสม

อัตราส่วนในการแบ่ง (อัลฟะรีเฏาะฮฺ)  หมายถึง  ส่วนแบ่งที่ถูกกำหนดปริมาณตามบัญญัติศาสนาให้แก่ทายาทแต่ละคน  อาทิ  1/3 , 1/4   เป็นต้น

สิทธิของผู้ตายที่เกี่ยวข้องกับมรดก

สิทธิของผู้ตายที่เกี่ยวข้องกับมรดกมีอยู่  5 ประการ  ให้ดำเนินการตามลำดับหากมีกรณีต่างๆ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.  เอาส่วนหนึ่งจากมรดกมาจัดการเกี่ยวกับศพ  เช่น  การห่อศพ  เป็นต้น

2.  สิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวมรดก  เช่น  หนี้สินจากการจำนอง  เป็นต้น

3.  ใช้หนี้สินทั่วไป  จะเป็นหนี้สินที่มีพันธะกับอัลลอฮฺ  เช่น  ซะกาต  กัฟฟาเราะฮฺ  และในทำนองเดียวกับทั้งสองอย่างนี้  หรือหนี้สินที่เกี่ยวโยงกับเพื่อนมนุษย์  เช่น  การยืม  ค่าเช่าบ้าน  และในทำนองเดียวกันนี้

4.  ปฏิบัติตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้

5.  เอาทรัพย์สินที่เหลือทั้งหมดมาจัดแบ่งตามสัดส่วนของผู้มีสิทธิได้รับ  และเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เราจะมาพูดในที่นี่

หลักการแบ่งมรดก

หลักการแบ่งมรดกมี 3 ประการ

1.  อัลมุวัรริษ  คือ  ผู้ตาย

2.  อัลวาริษ  คือ  ทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากเจ้าของมรดกตาย

3.  อัลเมารูษ  คือ  ทรัพย์สินที่ผู้ตายทิ้งไว้  หรือมรดก

สาเหตุที่ทำให้มีสิทธิในการสืบมรดก

สาเหตุที่ทำให้มีสิทธิในการสืบมรดกมี 3 ประการ  ดังต่อไปนี้

1.  การสมรส  หมายถึง  การสมรสที่ถูกต้องตามหลักนิติบัญญัติอิสลาม  ซึ่งเป็นสาเหตุให้สามีสามารถสืบมรดกจากภรรยาได้  และภรรยาสามารถสืบมรดกจากสามีได้  เพียงแค่การทำสัญญาการสมรสตามหลักการเท่านั้น 

2.  เชื้อสายวงศ์ตระกูล  เป็นทายาทโดยชอบธรรมตามนิติบัญญัติอิสลาม  หมายถึง  เป็นเครือญาติในฐานะผู้ให้กำเนิด  เช่น  บิดามารดา  หรือในฐานะผู้สืบสันดาน  เช่น  บรรดาลูกหลาน  บรรดาเครือญาติร่วมสายโลหิต  เช่น  พี่น้องชาย  พี่น้องหญิง  ลุง  อาชาย  และบรรดาลูกๆ ของพวกเขา 

3.  นายทาส  หมายถึง  ผู้ที่มีทาสไว้ในครอบครองหลังจากนั้นได้ปล่อยเขาให้เป็นอิสระ  เมื่อทาสที่เขาปล่อยได้ตายลง  หากเขาไม่มีทายาททางด้านเชื้อสายหรือผู้ที่จะมาสืบมรดก  ก็เป็นที่อนุญาตให้นายทาสรับมรดกของเขาได้

เงื่อนไขในการสืบมรดก

สำหรับการสืบมรดกจากผู้ตายถูกวางเงื่อนไขไว้ 3 ประการ  ดังต่อไปนี้

1.  เป็นการตายอย่างแท้จริงของเจ้าของมรดก

2.  การมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริงของทายาท  ขณะที่เจ้าของมรดกตาย

3.  รู้ถึงสาเหตุที่จำเป็นในการสืบมรดก  จะด้วยด้วยเชื้อสาย  การสมรส  หรือนายทาส

สาเหตุที่ถูกตัดสิทธิจากมรดก

สาเหตุที่ถูกตัดสิทธิในมรดกมี 3 ประการ  ดังต่อไปนี้

1.  การเป็นทาส  เพราะว่าทาสไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่มีการรับมรดก  เพราะแท้จริงเขาเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย

2.  การฆ่าโดยปราศจากความชอบธรรม  ในกรณีนี้ผู้ฆ่าจะไม่มีสิทธิในการรับมรดก  ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าโดยเจตนา  หรือฆ่าผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนา  

3.  การนับถือศาสนาที่ต่างกัน  กล่าวคือ  มุสลิมจะไม่รับมรดกจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็ไม่มีสิทธิรับมรดกจากผู้ที่เป็นมุสลิม

  จากอุสามะฮฺ บิน ซัยดฺ  เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา  แท้จริงท่านบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า

 «لا يَرِثُ المُسْلِـمُ الكَافِرَ، وَلا الكَافِرُ المُسْلِـمَ»

ความหมาย: “มุสลิมจะไม่รับมรดกจากกาฟิร (ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม)  และกาฟิรก็ไม่รับมรดกจากผู้ที่เป็นมุสลิม”  (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6764  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1614)

บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการรับมรดกกรณีผู้ที่หย่าร้าง

1.  กรณีที่ภรรยาถูกหย่าแบบคืนดีกันได้ (ร็อจญ์อีย์) สามารถรับมรดกระหว่างนางกับสามีของนางได้  ตราบใดที่นางยังอยู่ระหว่างระยะเวลารอให้ขาดจากกัน (อิดดะฮฺ)

2.  กรณีที่ภรรยาถูกหย่าแบบเด็ดขาด (บาอิน) โดยที่สามีมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์  ไม่อนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายรับมรดกระหว่างกัน  แต่ในกรณีที่สามีเจ็บป่วยและเกรงว่าจะเสียชีวิตลงในการเจ็บป่วยดังกล่าว  โดยไม่มีได้เจตนาจะกันภรรยามิให้ได้รับมรดกในกรณีนี้นางจะไม่ได้รับมรดกเช่นกัน  แต่หากสามีเจตนาจะกันภรรยามิให้ได้รับมรดกในกรณีนี้อนุญาตให้ภรรยารับมรดกของสามีได้

ประเภทของการสืบมรดก

การสืบมรดกแบ่งออกเป็น  2 ประเภท     

1.  สืบมรดกด้วยกับอัตราส่วนที่ถูกกำหนด  หมายถึง  การที่ทายาทได้สืบมรดกตามปริมาณหรืออัตราส่วนที่ศาสนากำหนดไว้  เช่น  1/2 หรือ  1/4  เป็นต้น

2.  สืบมรดกด้วยกับส่วนที่เหลือ  หมายถึง  การที่ทายาทได้สืบมรดกตามปริมาณหรืออัตราส่วนโดยที่ศาสนาไม่ได้กำหนดไว้

อัตราส่วนที่ศาสนากำหนดที่มีปรากฏในอัลกุรอานมี 6 รูปแบบ

อัตราส่วนที่ศาสนากำหนดมีดังนี้ 1/2  1/4  1/8  2/3  1/3  1/6  ส่วน 1/3 จากส่วนที่เหลือ  มาจากการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด)

บรรดาทายาทผู้ชายที่มีสิทธิ์รับมรดก    

บรรดาทายาทผู้ชายที่มีสิทธิ์รับมรดกโดยแยกรายละเอียดออกเป็นจำนวน 15 จำพวก  มีดังต่อไปนี้

1.  ลูกชายของผู้ตาย

2.  หลานชายของผู้ตาย (ลูกชายของลูกชาย)  และทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

3.  พ่อของผู้ตาย

4.  ปู่ของผู้ตาย  และทายาทชายที่สูงขึ้นไป

5.  พี่น้องชายร่วมพ่อแม่กับผู้ตาย

6.  พี่น้องชายร่วมพ่อกับผู้ตาย

7.  พี่น้องชายร่วมแม่กับผู้ตาย

8.  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อแม่กับผู้ตาย

9.  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อกับผู้ตาย  และทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

10.  สามีของผู้ตาย

11.  ลุงและอาร่วมพ่อแม่กับพ่อของผู้ตาย  และทายาทชายที่สูงขึ้นไป

12.  ลุงและอาร่วมพ่อกับพ่อของผู้ตาย  และทายาทชายที่สูงขึ้นไป

13.  ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อแม่กับพ่อของผู้ตาย

14.  ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อกับพ่อของผู้ตาย  และทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

15.  นายซึ่งเป็นผู้ปล่อยทาสให้เป็นอิสระ

บรรดาผู้ชายที่นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาถือเป็น “ซะวิล อัรฺหาม” (ญาติทั่วไป)  เช่น  บรรดาน้าหรืออา  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมแม่  ลุงร่วมแม่  ลูกของลุงร่วมแม่  และในทำนองเดียวกันกับพวกเขาเหล่านี้ 

บรรดาทายาทผู้หญิงที่มีสิทธิ์รับมรดก

บรรดาทายาทผู้หญิงที่มีสิทธิ์รับมรดกโดยแยกรายละเอียดออกเป็นจำนวน 11 จำพวก  มีดังต่อไปนี้

1.  ลูกสาวของผู้ตาย

2.  หลานสาวของผู้ตาย (ลูกสาวของลูกชาย)  และทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

3.  แม่ของผู้ตาย 

4.  ยายทางด้านแม่ของผู้ตาย  และทายาทหญิงที่สูงขึ้นไป

5.  ย่าของผู้ตาย (แม่ของพ่อ) และทายาทหญิงที่สูงขึ้นไป 

6.  ย่าของผู้ตาย (แม่ของพ่อของพ่อ)

7.  พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่กับผู้ตาย

8.  พี่น้องสาวร่วมพ่อกับผู้ตาย 

9.  พี่น้องสาวร่วมแม่กับผู้ตาย

10.  ภรรยาของผู้ตาย

11.  นายหญิงซึ่งเป็นผู้ปล่อยทาสให้เป็นอิสระ

บรรดาผู้หญิงที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก  นอกจากบรรดาผู้หญิงที่เป็นเครือญาติใกล้ชิด  เช่น  บรรดาป้า  บรรดาน้า  และในทำนองเดียวกันกับพวกนางเหล่านั้น 

อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

ความหมาย  “สำหรับบรรดาผู้ชายนั้นมีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้เป็นบิดามารดาทั้งสอง  และบรรดาเครือญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้  และสำหรับบรรดาผู้หญิงก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้เป็นบิดามารดาทั้งสอง  และบรรดาเครือญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้  ซึ่งสิ่งนั้นจะน้อยหรือมากก็ตาม  เป็นสัดส่วนได้รับตามที่ถูกกำหนดอัตราส่วนไว้”  (อันนิสาอฺ : 7)

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/321357


ย้อนกลับ