บทความน่ารู้


ซะกาตสิ่งที่ได้มาจากผืนดิน

 

ประเภทของสิ่งที่มาจากแผ่นดิน

สิ่งที่มาจากผืนดินก็คือธัญพืช ผลไม้ สินแร่ ทรัพย์ที่ถูกฝัง เป็นต้น

 

หุก่มซะกาตธัญพืชและผลไม้

วาญิบต้องจ่ายซะกาตเมล็ดพืชทุกชนิด และผลไม้ที่มีการตวงและเก็บกักไว้เช่น อินทผลัมและองุ่นแห้ง เป็นต้น

1- อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ความว่า “และพระองค์นั้นคือผู้ที่ทรงให้มีขึ้นซึ่งสวนทั้งหลายทั้งที่มีร้านยกให้มันเลื้อยไต่ขึ้นสูงและไม่มีร้านให้มัน และต้นอินทผลัมและพืช โดยที่ผลของมันมีลักษณะที่แตกต่างกัน และต้นมะกอกและต้นทับทิม ทั้งที่มีความละม้ายคล้ายกันและไม่ละม้ายคล้ายกัน จงบริโภคจากผลของมันเถิดเมื่อออกผล และจงจ่ายซะกาตส่วนอันเป็นสิทธิอันพึงจ่ายของมันด้วย คือจ่ายในวันแห่งการเก็บเกี่ยวมันและจงอย่าฟุ่มเฟือย เพราะแท้จริงแล้วพระองค์ไม่ทรงรักเหล่าผู้ที่ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย” (อัล-อันอาม 141)

2- จากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيْسَ فِيمَا دُونَ خَمْسِ أَوَاقٍ صَدَقَةٌ، وَلَيْسَ فِيمَا دُونَ خَمْسِ ذَوْدٍ صَدَقَةٌ، وَلَيْسَ فِيمَا دُونَ خَمْسِ أَوْسُقٍ صَدَقَةٌ»

ความว่า “ทรัพย์สินที่ไม่ครบห้าอูกิยะฮฺ(หน่วยชั่งชนิดหนึ่ง)ไม่ต้องจ่ายซะกาต อูฐที่ไม่ครบห้าตัวไม่ต้องจ่ายซะกาต ธัญญพืชที่ไม่ครบห้าวะสัก(หน่วยตวงชนิดหนึ่ง)ไม่ต้องจ่ายซะกาตเช่นกัน” (อัล-บุคอรีย์ 1405 มุสลิม 979)

เงื่อนไขของซะกาต ธัญพืชและผลไม้

มีเงื่อนไขว่าธัญพืชและผลไม้นั้นต้องอยู่ในครอบครองในเวลาที่มีการวาญิบซะกาต และครบพิกัดซึ่งมีปริมาณห้า วะสัก คือเท่ากับสามร้อย ศออฺ ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือเทียบเท่ากับ 612 กิโลกรัมของข้าวสาลีโดยประมาณ

- หนึ่งศออฺสมัยท่านนบีนั้นเทียบเท่ากับ  2.40 กิโลกรัมของข้าวสาลีโดยประมาณ ดังนั้นภาชนะที่มีความจุเท่ากับจำนวนนี้ถือว่าเท่ากับหนึ่งศออฺของสมัยท่านนบี ซึ่งเท่ากับสี่กอบมือโดยมือคนขนาดกลาง

- ให้ทำการเสิรมผลไม้ของปีเดียวเพื่อให้ครบนิศอบ(พิกัด)หากเป็นชนิดเดียวกันเช่นอินทผลัมชนิดต่างๆ เป็นต้น

จำนวนที่วาญิบสำหรับซะกาตธัญพืชและผลไม้

  1. หนึ่งส่วนสิบ หรือร้อยละสิบ สำหรับผลผลิตที่ได้มาโดยการรดน้ำที่ไม่มีภาระใด เช่นพืชที่อาศัยน้ำฝน หรือน้ำจากตาน้ำ เป็นต้น
  2. ครึ่งของหนึ่งส่วนสิบ หรือร้อยละห้า สำหรับผลผลิตที่ได้มาโดยการรดน้ำที่มีภาระ เช่น น้ำบ่อที่ใช้เครื่องมือในการตัก เป็นต้น

รายงานจากท่าน อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่าท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«فِيمَا سَقَتِ السَّمَاءُ وَالعُيُونُ أَوْ كَانَ عَثَرِيّاً العُشْرُ، وَمَا سُقِيَ بِالنَّضْحِ نِصْفُ العُشْرِ». أخرجه البخاري.

“ในสิ่งที่อาศัยน้ำฝนและน้ำจากตาน้ำ หรืออาศัยน้ำฝนหรือลำต้นดูดน้ำเองนั้นต้องจ่ายซะกาตหนึ่งส่วนสิบ และสิ่งที่มีการรด(อาศัย)น้ำจากการใช้ระหัดวิดน้ำ(ถังรด)ต้องจ่ายครึ่งของหนึ่งส่วนสิบ” [บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข  1483]

  1. สามส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ หรือ ร้อยละเจ็ดจุดห้า สำหรับผลผลิตที่ได้มาจากน้ำทั้งสองแบบ คือใช้น้ำจากบ่อรดให้ในบางครั้งบางช่วงและได้น้ำฝนรดให้ในบางช่วงบางคราว

เวลาที่วาญิบซะกาต

เวลาที่วาญิบซะกาตสำหรับธัญพืชและผลไม้คือเมื่อมันเริ่มแข็งและเริ่มใช้ได้ ซึ่งการเริ่มใช้ได้ก็คือเริ่มแดงหรือเริ่มเหลือง ดังนั้น หากเจ้าของขายมันหลังจากนั้น(หลังจากเริ่มใช้ได้)ถือว่าเขาต้องจ่ายซะกาตเองไม่ใช่ผู้ซื้อ

จำนวนซะกาตน้ำผึ้ง

เมื่อบุคคลหนึ่งได้เก็บน้ำผึ้งจากสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา(เช่นต้นไม้ของเขา) หรือจากที่ที่ไม่มีใครครอบครองเช่น ต้นไม้(ในป่า)หรือภูเขา เขาจะต้องจ่ายซะกาตจำนวนหนึ่งส่วนสิบ โดยที่พิกัดของน้ำผึ้งอยู่ที่ 160 ริฏลฺ อิรอกียฺ ซึ่งเท่ากับ 62 กิโลกรัม  และหากเขาค้าขายน้ำผึ้งก็จะต้องจ่ายซะกาตเป็นซะกาตการค้าซึ่งจำนวนที่ต้องจ่ายคือร้อยละสองจุดห้า

หุก่มซะกาตสวนที่มีไว้ให้เช่า

วาญิบต้องจ่ายซะกาตเป็นจำนวนหนึ่งส่วนสิบหรือครึ่งของหนึ่งส่วนสิบสำหรับบุคคลที่เช่าผืนดินหรือสวนของผู้อื่น นั่นคือเจ้าของสวนไม่ใช่ผู้ออกซะกาต ซะกาตดังกล่าวรวมทุกสิ่งที่งอกเงยจากสวนนั้นซึ่งเป็นสิ่งที่มีการการตวงและเก็บสะสมไว้ได้นานจากบรรดาธัญพืชและผลไม้ที่เป็นเม็ดหรืออื่นๆ(หมายถึงพืชที่อยู่ในประเภทของการจัดเก็บซะกาตทั้งหมด) ส่วนผู้ให้เช่าก็ต้องจ่ายซะกาตเงินค่าเช่าหากมันถึงพิกัดและครบรอบปีนับจากวันที่มีการทำสัญญาเช่า

หุก่มซะกาตสิ่งที่นำออกมาจากทะเล

ทุกสิ่งที่นำออกมาจากทะเล เช่นไข่มุก หินปะการัง และปลา เป็นต้น ถือว่าไม่ต้องจ่ายซะกาต และหากทำการค้าขายก็ให้จ่ายซะกาตค้าขายจากราคาของมันเป็นจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ(ร้อยละสองจุดห้า) ทั้งนี้หากถึงพิกัดและครบรอบปี

จำนวนซะกาตสินแร่

ทุกสิ่งที่นำออกมาจากแผ่นดินจากบรรดาสินแร่ต่างๆ และสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พืชพันธุ์ธัญญาหารให้จ่ายซะกาตเมื่อครบพิกัดเดียวกับทองคำและเงินบริสุทธิ์เป็นจำนวน ร้อยละสองจุดห้า โดยคิดจากราคาของมัน หรือคิดจากปริมาณของมันหากมันมีค่าเหมือนเช่นทองคำและเงินบริสุทธิ์

วาญิบต้องจ่ายซะกาตสินแร่ทันทีที่ได้มันมาถ้าหากว่ามันครบพิกัด เนื่องจากมันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องนับให้ครบรอบปีแต่ประการใด

จำนวนซะกาตทรัพย์ที่ถูกฝัง

คือทรัพย์ที่ขุดพบจากการฝังในสมัยโบราณ ซะกาตที่วาญิบในทรัพย์ประเภทนี้คือหนึ่งส่วนห้า ไม่ว่ามันจะมีจำนวนมากหรือน้อยและไม่มีเงื่อนไขว่าต้องครบพิกัดและครบรอบปีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งทรัพย์ประเภทนี้จะถูกแจกจ่ายให้แก่แหล่งแจกจ่ายเดียวกับทรัพย์ที่เป็นเครื่องบรรณาการ ส่วนที่เหลือคือสี่ในห้าส่วนจะเป็นของผู้ที่ขุดพบ

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/330892


ย้อนกลับ