บทความน่ารู้


ซะกาตทรัพย์สินที่เตรียมไว้เพื่อค้าขาย

ทรัพย์สินที่เตรียมไว้เพื่อค้าขาย คือสิ่งที่จัดเตรียมไว้เพื่อซื้อขายหากำไร เช่นอสังหาริมทรัพย์ สัตว์ อาหาร เครื่องดื่มและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

หุก่มซะกาตทรัพย์สินที่เตรียมไว้เพื่อค้าขาย

ทรัพย์สินค้าหากเตรียมไว้เพื่อค้าขายและมีจำนวนถึงพิกัดซะกาตพร้อมกับครบรอบปีถือว่าวาญิบต้องจ่ายซะกาต โดยจะต้องมีการตีราคาเมื่อครบรอบปีด้วยวิธีที่ให้ประโยชน์ที่สุดแก่ชาวซะกาต(คนที่จะรับซะกาต)เทียบกับทองคำหรือเงิน โดยจ่ายจำนวนร้อยละสองจุดห้าจากราคาทั้งหมดหรือจากตัวทรัพย์สินเอง

 

สภาพของทรัพย์สิน

1- บ้าน อสังหาริมทรัพย์ รถ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น หากมีไว้เพื่ออยู่อาศัย หรือใช้งาน ไม่ได้มีไว้เพื่อค้าขายถือว่าไม่ต้องจ่ายซะกาต

2- หากมีไว้เพื่อให้เช่า ก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตค่าเช่า เริ่มตั้งแต่ทำข้อตกลง หากครบพิกัดและครบรอบปีทั้งนี้ก่อนที่จะมีการใช้จ่ายค่าเช่านั้นๆ

3- หากมีไว้เพื่อค้าขายถือว่าต้องจ่ายซะกาตในส่วนของราคาของมันจำนวนร้อยละสองจุดห้า ทั้งนี้หากครบพิกัดและครบรอบปี

เครื่องมืออุปกรณ์การทำสวน การผลิตสิ่งของ และร้านค้า เป็นต้น ถือว่าไม่ต้องจ่ายซะกาต เพราะไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นสินค้าในการค้าขายหากแต่เป็นการมีไว้เพื่อใช้งาน

 

การจ่ายซะกาตหุ้นส่วนในบริษัทต่างๆ

1- หุ้นส่วนการเกษตร หากการลงทุนเพื่อผลผลิตเป็นธัญพืชและผลไม้ จากสิ่งที่มีการชั่งตวงและเก็บตุนไว้ได้(พืชที่เข้าข่ายต้องจ่ายซะกาต) ถือว่าต้องจ่ายซะกาตธัญพืชและผลไม้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของมัน และหากเป็นปศุสัตว์ก็ต้องจ่ายซะกาตปศุสัตว์ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของซะกาตนี้ และถ้าหากเป็นทรัพย์สินที่หมุนเวียนก็ต้องจ่ายซะกาตเงินตราจำนวนร้อยละสองจุดห้าภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของมัน

2- หุ้นส่วนการผลิต เช่น บริษัทยา เวชภัณฑ์ ไฟฟ้า ปูนซิเมนต์  เหล็ก เป็นต้น วาญิบจะต้องจ่ายซะกาตในผลกำไรสุทธิของบริษัทจำนวนร้อยละสองจุดห้าหากถึงพิกัดและครบรอบปีโดยการเทียบเคียงกับอสังหาริมทรัพย์ที่เตรียมไว้เพื่อให้เช่า

3- หุ้นส่วนการค้า เช่นนำเข้าสินค้า ส่งออก ซื้อ ขาย ลงทุนมุฎอรอบะฮฺ และแลกเปลี่ยนโอนเงินและอื่นๆในสิ่งที่ศาสนาอนุญาต หุ้นส่วนเหล่านี้ต้องจ่ายซะกาตทรัพย์สินที่เตรียมไว้เพื่อการค้าทั้งในส่วนของต้นทุนและผลกำไรสุทธิเป็นจำนวนร้อยละสองจุดห้าทั้งนี้หากครบพิกัดและครบรอบปี

 

ซะกาตหุ้นส่วนมีสองลักษณะคือ

1- เจ้าของมีเจตนาถือครองหุ้นส่วนนั้นตลอดไปและรอรับส่วนแบ่งผลกำไรประจำปี ถือว่าต้องจ่ายซะกาตผลกำไรเพียงอย่างเดียวเป็นจำนวนร้อยละสองจุดห้าดังที่กล่าวมาแล้ว

2- หากเจ้าของมีเจตนาทำการค้าหุ้นโดยการขายและซื้อ ขายหุ้นนี้แล้วซื้อหุ้นนั้นเพื่อหากำไร อย่างนี้ถือว่าต้องจ่ายซะกาตทุกส่วนที่เขาครอบครองทั้งหุ้นและกำไร โดยซะกาตที่ต้องจ่ายคือซะกาตทรัพย์ค้าขายจำนวนร้อยละสองจุดห้า โดยราคาที่จะคิดก็คือราคาตามท้องตลาดในช่วงที่วาญิบต้องจ่ายซะกาต เช่นเดียวกับตั๋วเงิน

 

ซะกาตทรัพย์สินที่หะรอม

ทรัพย์สินที่หะรอมมีสองประเภทคือ

1- หากทรัพย์สินนั้นหะรอมโดยตัวมันเช่น เหล้า สุกร เป็นต้น ถือว่าไม่อนุญาตให้ครอบครองและไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีซะกาต จึงต้องทำลายและปลดเปลื้องมันออกจากตัว

2-หากทรัพย์สินนั้นหะรอมโดยลักษณะของมันไม่ใช้ตัวมันเอง หากแต่มันถูกเอามาโดยมิชอบและไม่ได้เกิดจากข้อตกลงใดๆ(ที่ถูกต้อง)เช่น ทรัพย์ที่ถูกฉกชิง ลักขโมย หรือรับมาด้วยข้อตกลงที่ไม่ถูกต้องเช่น ริบา พนัน ทรัพย์หะรอมประเภทนี้มีสองลักษณะคือ

1) หากรู้เจ้าของก็ให้คืนเขาไป และเขาจะเป็นคนจ่ายซะกาตของมันหลังจากที่รับคืนไปครบหนึ่งปี

2) หากไม่รู้เจ้าของให้ทำการบริจาคแทนเขา หากเขาปรากฏตัวและอนุญาตก็ถือว่าสิ้นสุด แต่ถ้าเขาไม่อนุญาตก็ต้องชดใช้ให้แก่เขา และหากยังคงเก็บไว้ในมือถือว่าเป็นบาปและต้องจ่ายซะกาต

อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/330894

 

 


ย้อนกลับ