บทความน่ารู้


ความหมาย หุก่ม และประโยชน์ของซะกาต

เคล็ดลับความหลากหลายของอิบาดาต

อัลลอฮฺได้บัญญัติอิบาดาตที่หลากหลายเหนือบ่าวของพระองค์ บางส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น ละหมาด บางส่วนเกี่ยวข้องกับการสละทรัพย์อันเป็นที่รักให้แก่ผู้อื่น เช่น ซะกาตและทานบริจาค  บางส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งร่างกายและการสละทรัพย์ เช่น ฮัจญ์และการญิฮาด และบางส่วนเกี่ยวข้องกับการระงับตัวเองจากสิ่งที่ชอบและมีความอยากในสิ่งนั้นๆเช่น การถือศีลอด  ซึ่งในการที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้มีอิบาดาตที่หลากหลายก็เพื่อให้บ่าวของพระองค์ได้เลือกปฏิบัติการภักดีต่อพระองค์ตามที่เขาต้องการ และเลือกปฏิบัติในสิ่งที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพของแต่ละบุคคล

เงื่อนไขของทรัพย์สินที่จะให้ประโยชน์แก่เจ้าของของมัน

ทรัพย์สินจะไม่เกิดประโยชน์แก่เจ้าของมัน ยกเว้นเมื่อครบองค์ประกอบสามอย่างคือ เป็นทรัพย์ที่หะลาล เป็นทรัพย์ที่ไม่ทำให้เจ้าของละเลยการทำการภักดีต่ออัลลอฮฺ และมีการมอบหรือปฏิบัติในสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือทรัพย์นั้น

ซะกาต คือ ความเจริญและเพิ่มพูน เป็นสิทธิ์ที่วาญิบเหนือทรัพย์สินที่เจาะจงแน่นอน ให้แก่กลุ่มบุคคลที่แน่นอน ในเวลาที่ชัดเจนแน่นอน

เวลาที่มีการบัญญัติซะกาต

ซะกาตถูกบัญญัติที่นครมักกะฮฺ ส่วนพิกัดที่ต้องจ่าย ประเภทของทรัพย์ที่ต้องจ่าย และแหล่งที่จะแจกจ่ายนั้น ถูกแจกแจงที่นครมะดีนะฮฺในปีที่สองหลังการอพยพ

หุก่มของซะกาต

ซะกาตถือเป็นหลักปฏิบัติในศาสนาอิสลามที่สำคัญรองลงมาจากการกล่าวคำปฏิญาณ และการละหมาด ซะกาตเป็นรุกน(หลักบัญญัติ)ที่สามของหลักปฏิบัติ(ห้าประการ)ในอิสลาม

1. อัลลอฮฺตรัสว่า

ความว่า “(มุฮัมมัด) เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของพวกเขาเป็นทาน เพื่อทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทินของพวกเขาด้วยส่วนตัวที่เป็นทาน นั้น และเจ้าจงขอพรให้แก่พวกเขาเถิด เพราะแท้จริงการขอพรของพวกเจ้านั้น ทำให้เกิดความสุขใจแก่พวกเขา และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้“ (อัตเตาบะฮฺ :103)

2. มีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ الإِسْلَامَ بُنِيَ عَلَى خَمْسٍ شَهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللهُ وَإِقَامِ الصَّلَاةِ وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ وَصِيَامِ رَمَضَانَ وَحَجِّ البَيْتِ». متفق عليه.

ความว่า “แท้จริง อิสลามได้ถูกสร้างไว้บนหลักห้าประการคือ การกล่าวคำปฏิญาณว่าแท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ  การดำรงละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและการทำฮัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 8 และมุสลิม หมายเลข 16  สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)

 

วิทยปัญญาในการบัญญัติซะกาต

1. เป้าหมายหลักในการบัญญัติซะกาตไม่ใช่เพียงเพื่อการรวบรวมทรัพย์สินแล้วแจกจ่ายแก่คนยากจนและผู้ขัดสนเท่านั้น แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อให้มนุษย์อยู่เหนือทรัพย์สิน เป็นเจ้าไม่ใช่ทาสของมัน ด้วยเหตุนี้ซะกาตจึงเป็นผู้ทำให้เกิดความบริสุทธิ์และความสะอาดแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับ

2. แม้โดยผิวเผินซะกาตทำให้จำนวนของทรัพย์สินลดลงแต่แท้จริงแล้ว ผลของมันทำให้ทรัพย์สินเพิ่มพูนและมีความจำเริญ  จำนวนของทรัพย์จะเพิ่มขึ้น ความศรัทธาในใจของเจ้าของก็เพิ่มขึ้นและศีลธรรมจรรยาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน มันเป็นทั้งการให้และการรับ  การให้ในสิ่งที่ตนรักเพื่อให้ได้สิ่งที่รักมากกว่า นั้นก็คือความพึงพอใจของอัลลอฮฺและการได้รับชัยเป็นสวนสวรรค์ของพระองค์

ใครคือเจ้าของทรัพย์สิน

ระบบทรัพย์สินในอิสลามวางอยู่บนพื้นฐานที่ยอมรับว่า อัลลอฮฺพระองค์เดียวคือผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง พระองค์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการจัดระเบียบการถือครอง บัญญัติสิทธิ์ต่างๆในทรัพย์สินพร้อมกับกำหนดกรอบปริมาณ และแจกแจงแหล่งแจกจ่าย พร้อมกำหนดวิธีการในขวนขวายหาทรัพย์สินและวิธีการในการใช้จ่ายมัน

3. ซะกาตจะช่วยลบล้างบาปกรรมต่างๆ และการไม่มีบาปจะเป็นสาเหตุให้ได้เข้าสวรรค์และรอดพ้นจากไฟนรก

4. อัลลอฮฺได้บัญญัติซะกาตและกระตุ้นให้มีการปฏิบัติ เพราะมันจะทำให้ชีวิตมีความสะอาดปลอดจากความต่ำต้อยของความโลภและความตระหนี่ ซะกาตจะเป็นสะพานเชื่อมที่แข็งแรงระหว่างคนรวยและคนจน  ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ เป็นสุขและปลอดโปร่ง ทุกฝ่ายอยู่กันอย่างสันติ รักใคร่กันและเป็นมิตรสหายกัน

5. ซะกาตเพิ่มพูนความดีให้แก่ผู้ที่จ่ายมัน  ปกป้องทรัพย์จากภัยต่างๆ ทำให้เกิดดอกผล งอกงามและเพิ่มพูน ช่วยชดเชยและขจัดความขัดสนของคนยากจนอนาถา ป้องกันอาชญากรรมทางทรัพย์สินต่างๆ เช่นการลักขโมย ปล้นสะดมและการกดขี่รีดไถ

ปริมาณซะกาต

อัลลอฮฺได้กำหนดซะกาตตามระดับความเหนื่อยยากในการได้มาของทรัพย์สินที่จะต้องจ่ายนั้น

1. พระองค์ได้บัญญัติในทรัพย์ ริกาซ คือทรัพย์ที่ขุดพบจากการฝังในสมัยญาฮีลิยะฮฺ(ก่อนอิสลาม) ซึ่งไม่ได้เหน็ดเหนื่อยอะไร ว่าจะต้องจ่าย หนึ่งส่วนห้า หรือร้อยละยี่สิบ

2. ทรัพย์ที่มีความเหน็ดเหนื่อยในด้านเดียว นั้นคือที่มีการรดน้ำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ (เช่นอาศัยน้ำฝน) จะต้องจ่ายจำนวนหนึ่งส่วนสิบ หรือ ร้อยละสิบ

3. ทรัพย์ที่มีความเหน็ดเหนื่อยในสองด้าน(จากการเพาะปลูกและรดน้ำ) นั้นคือที่มีการรดน้ำโดยมีค่าใช้จ่ายถือว่าจะต้องจ่าย ครึ่งของหนึ่งส่วนสิบ หรือ ร้อยละห้า

4. ทรัพย์ที่มีความเหน็ดเหนื่อยและไม่แน่นอนตลอดปี เช่นเงินตราและสินค้าที่ค้าขายจะต้องจ่าย หนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ หรือ ร้อยละสองจุดห้า

ความดีงามของการจ่ายซะกาต

1. อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ศรัทธาและประกอบสิ่งดีงามทั้งหลาย และดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาตนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขาและพวกเขาก็จะไม่เสียใจ” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 277) 

2. อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

ความว่า “บรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาทั้งกลางคืนและกลางวัน ทั้งโดยปกปิดและเปิดเผยนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขาและพวกเขาก็จะไม่เสียใจ” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 274)

 

เงื่อนไขของซะกาต

1. ซะกาตเป็นวาญิบเหนือทรัพย์สินทั้งของผู้ใหญ่และเด็ก ชายและหญิง คนวิกลจริตและสติฟั่นเฟือน ทั้งนี้หากทรัพย์นั้นมั่นคง ครบพิกัด ครบรอบปี และเจ้าของเป็นมุสลิมและเป็นไท

2. คนกาฟิรไม่วาญิบต้องจ่ายซะกาต เช่นเดียวกับอิบาดะฮฺอื่นๆ แต่เขาจะต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับมันในวันกิยามะฮฺ ส่วนในโลกนี้เขาจะไม่ถูกบังคับและจะไม่ถูกตอบรับจากเขาจนกว่าเขาจะเข้ารับอิสลามเพราะซะกาตเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่ง

สิ่งที่ไม่มีเงื่อนไขการครบรอบปี

- สิ่งที่งอกเงยออกมาจากแผ่นดิน ปศุสัตว์ และผลกำไรจากการค้าขาย วาญิบต้องจ่ายซะกาตหากครบพิกัดโดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องครบรอบปี ส่วนริกาซ(ขุมทรัพย์ที่เจอในดิน)จะต้องจ่ายซะกาตแม้จะมีจำนวนน้อยหรือมากก็ตามโดยไม่มีเงื่อนไขต้องครบพิกัดและครบรอบปี

- ปศุสัตว์และผลกำไรจากการค้าขาย การครบรอบปีคือการครบรอบปีของทุนเดิมของมันหากทุนเดิมนั้นครบพิกัด

หุก่มซะกาตสิ่งวะกัฟ

สิ่งวะกัฟต่างๆ ที่เป็นขององค์กรการกุศลส่วนรวม เช่นมัสยิด โรงเรียน และสมาคมเป็นต้น ไม่ต้องจ่ายซะกาต และสิ่งที่เตรียมไว้เพื่อใช้จ่ายแก่การกุศลส่วนรวมก็เหมือนกับสิ่งวะกัฟคือไม่ต้องจ่ายซะกาต แต่วาญิบต้องจ่ายซะกาตสิ่งวะกัฟที่เจาะจงเช่นสิ่งที่วะกัฟแก่ลูกๆ ของตนเป็นต้น

คนที่มีหนี้สินต้องจ่ายซะกาตหรือไม่?

ซะกาตเป็นวาญิบโดยไม่มีข้อแม้ แม้คนที่จะต้องจ่ายมีหนี้สินที่ทำให้พิกัดไม่สมบูรณ์ก็ตาม ยกเว้นหนี้ครบกำหนดจ่ายก่อนที่จะครบรอบปีของซะกาต ถือว่าต้องจ่ายหนี้ก่อนแล้วจึงทำการจ่ายซะกาตสิ่งที่คงเหลือ จึงจะพ้นภาระ

ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต

ซะกาตวาญิบจากตัวทรัพย์นั้นๆ เป็นพืชผลสำหรับซะกาตพืชผล เป็นแพะหากเป็นซะกาตแพะ และเป็นเงินหากเป็นซะกาตเงิน เป็นต้น จะไม่มีการเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นยกเว้นหากจำเป็นหรือเพื่อผลประโยชน์ที่ถูกต้อง

ทรัพย์สินที่ไม่ต้องจ่ายซะกาต

ทรัพย์สินที่เตรียมไว้เพื่อครอบครองและใช้สอยถือว่าไม่มีซะกาต เช่นบ้านเพื่ออยู่อาศัย เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน สัตว์พาหนะ รถ เป็นต้น

รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيْسَ عَلَى المُسْلِـمِ فِي عَبْدِهِ وَلا فَرَسِهِ صَدَقَةٌ». متفق عليه

ความว่า  “ไม่วาญิบเหนือมุสลิมในทาสของเขาและม้าของเขาซึ่งเศาะดาเกาะห์” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 1463 และมุสลิม หมายเลข 982  สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)

 

- หากบุคคลมีทรัพย์สินครบพิกัด และครบรอบปี ถือว่าต้องจ่ายไม่ว่าเขาจะเตรียมมันไว้เพื่อใช้จ่าย แต่งงาน ซื้ออสังหาริมทรัพย์ จ่ายหนี้ หรืออะไรก็ตาม

- หากผู้ที่จะต้องจ่ายซะกาตเสียชีวิตโดยที่เขายังไม่จ่าย ให้ญาติจ่ายซะกาตให้จากมรดกของเขา ก่อนทำการสนองพินัยกรรมและแบ่งมรดก

- หากทรัพย์ลดลงจากพิกัดในบางช่วงก่อนครบรอบปี หรือมีการขายโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงซะกาตถือว่าการนับรอบขาดลง และหากมีการสับเปลี่ยนทรัพย์ชนิดเดียวกันถือว่าให้สานต่อการนับรอบปี

-หากมุสลิมคนหนึ่งเสียชีวิตโดยมีภาระจะต้องจ่ายซะกาตและหนี้สิน โดยที่ทรัพย์สินที่เขาทิ้งไว้ไม่พอสำหรับทั้งสอง(ทั้งการจ่ายซะกาตและจ่ายหนี้) ให้ทำการจ่ายซะกาตก่อน เพราะซะกาตเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺที่ได้กำหนดเหนือผู้ที่มีความพร้อม และอัลลอฮฺสมควรแก่การจ่ายมากกว่า

 

ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาตมีสี่ประเภท คือ

 อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/23302

 

 

 

 


ย้อนกลับ