บทความน่ารู้
อัล-ศุลห์ (การประนีประนอม)
อัล-ศุลห์ คือข้อตกลงที่มีผลให้ข้อพิพาทระหว่างคู่กรณียุติลง
เคล็ดลับ(หิกมะฮฺ)ของการบัญญัติการประนีประนอม
อัลลอฮฺได้บัญญัติการประนีประนอมเพื่อผสานรอยร้าวระหว่างคู่พิพาท และทำให้การพิพาทหมดไป ส่งผลให้จิตใจดีขึ้น ความอาฆาตหมดไป เกิดความปรองดองกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ และความดีที่สูงส่งเมื่อใดที่มีการปฏิบัติโดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ
ความประเสริฐของการประนีประนอมระหว่างเพื่อนมนุษย์
1- อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“ไม่มีความดีอยู่ในส่วนใหญ่ของคำกระซิบกระซาบของพวกเขา นอกจากผู้ที่สั่งใช้ให้มีการบริจาค หรือสั่งใช้ให้มีการทำความดี หรือทำการไกล่เกลี่ยระหว่างเพื่อนมนุษย์ ผู้ใดกระทำเช่นนั้น โดยมุ่งหวังความพอใจของอัลลอฮฺแล้ว เรา(อัลลอฮฺ)จะให้ผลบุญอันยิ่งใหญ่แก่เขา” (อันนิสาอ์ : 114)
2- จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ทุกๆ ข้อของมนุษย์นั้นเป็นภาระเหนือตัวเขาที่จะต้องบริจาคทาน(เพื่อขอบคุณอัลลอฮฺที่ทรงประทานอวัยวะเหล่านั้น) และทุกวันที่มีดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าแล้วมีการให้ความยุติธรรมแก่เพื่อนมนุษย์มีผลบุญเสมือนหนึ่งการบริจาคทานเช่นกัน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2707 สำนวนนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 1009)
หุก่มการประนีประนอม
การประนีประนอมถูกบัญญัติขึ้น ทั้งระหว่างมุสลิมด้วยกันและต่างศาสนิก ระหว่างคนดีและคนชั่ว ระหว่างสามีภรรยาที่ทะเลาะกัน ระหว่างเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และระหว่างคู่กรณีในเรื่องที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน และที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
"และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย)เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม, แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา" (อัล-หุญุรอต 9-10)
ประเภทของการประนีประนอม
การประนอมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท : ในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน และที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
การประนีประนอมในเรื่องทรัพย์สิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- การประนีประนอมที่อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับ
เช่นการที่คนๆ หนึ่งมีภาระผูกพันกับอีกบุคคลหนึ่งในสิ่งของหรือหนี้สินที่คนทั้งสองไม่รู้จำนวนแต่เป็นที่ยอมรับ(ว่ามีภาระผูกพันจริง) ดังนั้นเขาจึงทำการประนีประนอมกันด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้ และถ้าหากเขามีหนี้ที่ครบกำหนดชำระอยู่กับคนๆ นั้น โดยที่คนคนนั้นก็ยอมรับ แล้วเขา(เจ้าหนี้)ก็ได้ลดหนี้ลงและยืดเวลาให้หนี้ที่ยังมีอยู่ ถือว่าการลดหนี้และยืดเวลานั้นใช้ได้ หรือถ้าหากเขาประนีประนอมหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระโดยการลดจำนวนหนี้และรับการชดใช้หนี้ทันทีก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน ซึ่งการประนีประนอมประเภทนี้(ที่กล่าวมา)ใช้ได้หากไม่ใช่เป็นการวางเงื่อนไขให้ยอมรับว่าติดหนี้ เช่นกล่าวว่า “ฉันจะยอมรับว่าติดหนี้ท่านโดยมีเงื่อนไขว่าท่านจะต้องให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ฉัน” ซึ่งเดิมทีแล้วเขาจะไม่ลดสิทธิ์ของเขาลงนอกจากเพราะเหตุดังกล่าว
- การประนีประนอมที่อยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธ
โดยการที่ผู้ร้อง(เจ้าหนี้)มีสิทธิ์เหนือจำเลย(ลูกหนี้)แต่จำเลยไม่รู้ เขาจึงปฏิเสธ(ว่ามีหนี้หรือภาระ) ดังนั้นหากทั้งสองประนีประนอมในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าหากคนใดคนหนึ่งโกหกถือว่าการประนีประนอมดังกล่าวในส่วนของเขาเป็นโมฆะอย่างไม่เปิดเผย ดังนั้นสิ่งที่เขาได้ไปก็ถือว่าหะรอมสำหรับเขา(เนื่องจากได้ไปเพราะการโกหก)
การประนีประนอมที่เป็นที่อนุญาต
บรรดามุสลิมนั้นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เขาได้ตกลงไว้ และการประนีประนอมระหว่างพวกเขาก็อนุญาตให้กระทำได้ ยกเว้นการประนีประนอมที่ทำให้สิ่งที่หะรอมกลายเป็นหะลาล หรือ สิ่งที่หะลาลกลายเป็นหะรอม และการประนีประนอมที่อนุญาตคือการประนีประนอมที่ยุติธรรมซึ่งอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์สั่งใช้ นั่นคือสิ่งที่มีเจตนาให้พระองค์และคู่กรณีพอใจ อัลลอฮฺได้ทรงชมเชยในเรื่องดังกล่าวในอัลกุรอานว่า
“การประนีประนอมนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่า” (อันนิสาอ์ : 128)
เงื่อนไขของการประนีประนอม
การประนีประนอมที่ยุติธรรมนั้นมีเงื่อนไขหลายอย่างและที่สำคัญ คือการมีความสามารถของคู่กรณีที่ทำให้การกระทำของเขามีผลตามหลักการอิสลาม การประนีประนอมจะต้องไม่ครอบคลุมการทำให้สิ่งที่หะรอมกลายเป็นหะลาล หรือสิ่งที่หะลาลกลายเป็นหะรอม คู่กรณีคนใดคนหนึ่งต้องไม่โกหกในคำอ้างของเขา และผู้ทำการประนีประนอมต้องมีความยำเกรง รู้ข้อเท็จจริง รู้หน้าที่ และมีเจตนาเป็นธรรม
สิทธิของเพื่อนบ้าน
เป็นสิ่งที่ต้องห้ามแก่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ในครอบครองของเขาเป็นอันตรายแก่เพื่อนบ้านของเขา เช่นจากเครื่องยนต์ที่แรง หรือเตาอบ เป็นต้น แต่ถ้าหากไม่เป็นอันตรายก็ถือว่าไม่เป็นไร และระหว่างเพื่อนบ้านนั้นมีสิทธิและหน้าที่อันพึงต้องปฏิบัติต่อกันมากมาย ที่สำคัญๆ คือ เชื่อมสัมพันธ์ ทำดีต่อกัน ละเว้นสิ่งที่เป็นผลเสียแก่เพื่อนบ้าน อดทนในสิ่งไม่ดีที่เพื่อนบ้านก่อ และอื่นๆ ที่เป็นสิ่งวาญิบเหนือมุสลิม
รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
“ท่านญิบรีลได้ย้ำเตือนฉันตลอดเกี่ยวกับการทำดีต่อเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันคิดว่าเพื่อนบ้านจะรับมรดกกันได้” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6015 และ มุสลิม หมายเลข 2625)
อ้างอิง :: https://islamhouse.com/th/articles/204721