บทความน่ารู้
หลักการอิสลามที่สำคัญเกี่ยวกับการทำธุรกิจ (Major Islamic Principles of Business)
อิสลามได้ให้หลักการที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าขายไว้อย่างครบครันและเหมาะสม หลักการบางอย่างเป็นหลักพื้นฐานในภาพรวม บางอย่างอาจจะเป็นหลักการที่ให้รายละเอียดที่ชัดเจนตรงจุดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องด้วยธรรมชาติของการทำธุรกิจที่อาจนำมาซึ่งความทุจริตและเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย อิสลามจึงย้ำให้นักธุรกิจมุสลิมทำธุรกิจด้วยความเหมาะสม ยุติธรรม และอย่างมีจริยธรรม
นักธุรกิจมุสลิมต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับหลักการพื้นฐานในอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่มุสลิมในสาขาอาชีพอื่นจำเป็นต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน หลักการที่สำคัญนั้น ได้แก่
- อัลลอฮฺพระผู้สร้างเป็นเจ้าของและควบคุมสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด นักธุรกิจมุสลิมในฐานะบ่าวของพระองค์สามารถหาผลประโยชน์จากสิ่งที่ถูกสร้างเหล่านั้น หากเขายังรับปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์
- มนุษย์ต้องรับผิดชอบในทุกๆ สิ่งที่เขากระทำ ดังที่อัลลอฮฺได้สัญญาว่า หากมนุษย์ปฏิบัติสิ่งที่เป็นความดีไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เขาก็จะได้การตอบแทนเป็นรางวัล เช่นเดียวกันหากว่าเขาปฏิบัติกรรมชั่วสักน้อยนิด เขาก็จะได้รับการลงโทษ
จากแนวคิดและหลักสำคัญดังกล่าว อิสลามได้วางพื้นฐานที่สำคัญของการซื้อการขายดังต่อไปนี้
- ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีสติสัมปชัญญะ
หลักการนี้เหมือนกับเป็นสิ่งที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามคำว่า “สติสัมปชัญญะ” ในที่นี้มีนัยสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ซื้อ ลูกค้าที่ขาดความรู้เกี่ยวกับสินค้า ความมีเหตุผล และการควบคุมตัวเองอาจจะได้การกระตุ้นอย่างรุนแรงจากการส่งเสริมการขายที่เกินความเป็นจริง การซื้อขายที่เกิดนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะผู้ขายไม่ได้ทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ในทางตรงกันข้ามผู้ซื้อบางคนที่มีข้อมูลสินค้ามากกว่าผู้ขาย อาจสามารถหลอกลวงผู้ขายได้ การกระทำเช่นนั้นก็ไม่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม
- ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีความรู้และสมัครใจที่จะทำการค้าขาย
การซื้อขายจะต้องไม่มีการบังคับในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฉวยโอกาสที่ผู้ซื้อกลัวว่าราคาของสินค้าที่เขาต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบของการบังคับโดยทางอ้อม และทำให้ขาดความสมัครใจในการซื้อขายนั้น
- ผู้ขายต้องชั่งหรือตวงอย่างถูกต้องครบถ้วน
เนื่องจากการชั่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากในการซื้อขาย อัลลอฮฺได้มีบัญชาให้มีการชั่งให้ถูกต้องและครบถ้วน หลักการในเรื่องการชั่งและการคำนวณที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ต้องทำในกิจกรรมของธุรกิจใหญ่เช่นเดียวกัน
ในปัจจุบันการชั่งที่ไม่ครบถ้วนก็ยังเป็นรูปแบบของการทุจริตและปัญหาใหญ่ในการค้าขายที่เห็นได้ทั่วไป แม้ว่าจะเห็นได้มากในธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนมากจะทำกันในรูปแบบที่แยบยลกว่านั้น อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿وَلاَ تَقْرَبُواْ مَالَ الْيَتِيمِ إِلاَّ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ حَتَّى يَبْلُغَ أَشُدَّهُ وَأَوْفُواْ الْكَيْلَ وَالْمِيزَانَ بِالْقِسْطِ لاَ نُكَلِّفُ نَفْساً إِلاَّ وُسْعَهَا وَإِذَا قُلْتُمْ فَاعْدِلُواْ وَلَوْ كَانَ ذَا قُرْبَى وَبِعَهْدِ اللهِ أَوْفُواْ ذَلِكُمْ وَصَّاكُم بِهِ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ﴾ (الأنعام : 152 )
“และจงอย่าเข้าใกล้ทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้า นอกจากด้วยวิถีทางที่ดียิ่ง จนกว่าเขาจะบรรลุวัยฉกรรจ์ และจงให้ครบเต็มซึ่งเครื่องตวงและเครื่องชั่งด้วยความเที่ยงตรง เราจะไม่บังคับชีวิตนั้นมีความสามารถเท่านั้น และเมื่อพวกเจ้าพูด ก็จงยุติธรรม และแม้ว่าเขาจะเป็นญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม และต่อสัญญาของอัลลอฮฺนั้นก็จงปฏิบัติตามให้ครบถ้วน นั่นแหละที่พระองค์ได้ทรงสั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รำลึก” (อัล-อันอาม 6:152)
- ต้องมีการนำสินค้าเข้าสู่กลไกตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เนื่องจากตลาดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในอิสลาม ท่านศาสนทูตเองให้การสนับสนุนให้นำสินค้าสู่ตลาดให้มากที่สุด ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคต้องได้รับโอกาสเข้าสู่ตลาด และให้คนกลางและรัฐมีส่วนร่วมให้น้อยสุด การกระทำเช่นนี้ทำให้อุปสงค์และอุปทานเกิดความดุลยภาพ และเกิดการกำหนดราคาที่เหมาะสมตามความต้องการของอัลลอฮฺ
- ต้องไม่มีการปฏิเสธสิทธิของผู้หนึ่งผู้ใดโดยไม่จำเป็น
ผู้ขายเขามีความสุจริตและมีความสัจจริงในสินค้าที่เขานำเสนอ และพร้อมที่จะรับคืน หรือซื้อคืนสินค้าของเขาที่เสียหาย
- รู้สึกพอเพียงกับกำไรทางการเงินที่เหมาะสมและยุติธรรม
ความละโมบในกำไรที่มากมายจะนำไปสู่ความทุจริต ดังนั้นอัลลอฮฺได้สัญญาว่าจะให้กำไรทางจิตวิญญาณสำหรับผู้ที่ทำการค้าด้วยความสุจริต และยอมรับกำไรที่เหมาะสมเท่านั้น
- สินค้าที่ขายและเงินที่ใช้ซื้อสินค้าต้องได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เหตุผลของสินค้าที่ขายต้องถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามความสุจริตที่สมบูรณ์ในการค้าขายที่สมบูรณ์นั้น ต้องเกิดจากการใช้เงินที่ได้มาโดยถูกกฎหมายเท่านั้น
- สินค้าที่จะขายต้องเป็นกรรมสิทธิของผู้ขาย
ท่านศาสนทูตไม่ต้องการให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการซื้อขายนำไปสู่ความอยุติธรรมและความหวังร้าย ดังนั้นท่านไม่สนับสนุนให้ขายสินค้าก่อนที่ผู้ขายเองจะมีกรรมสิทธิโดยสมบูรณ์ โดยมีข้อยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น
- สินค้าและการบริการนั้นจะต้องไม่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลาม
สิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามในการบริโภคก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตในมีการค้าขายเช่นเดียวกัน เพราะแท้จริงแล้วผู้ที่มีส่วนในการค้าขายสิ่งที่ไม่อนุมัติให้บริโภคนั้นจะไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเลย
- สินค้าและการบริการจะต้องเป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อ
อิสลามห้ามค้าขายสินค้าที่ไม่เป็นประโยชน์หรืออาจทำให้เกิดผลเสียต่อสังคม ธุรกิจจะได้รับความโปรดปรานก็ต่อเมื่อสินค้านั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์อย่างชัดเจน
มีหลักการธุรกิจอื่นๆ อีกหลายข้อที่จะทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและนำไปสู่สังคมที่สงบสุข เช่น
- การสนับสนุนให้มีการทำสัญญาในการซื้อขาย
เนื่องจากอิสลามต้องการให้เกิดความเป็นภารดรภาพในสังคมมุสลิมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม การเขียนสัญญาและพยานจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความยุติธรรม และหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งสุดท้ายอาจก็จะนำมาซึ่งโรคร้ายในสังคม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِذَا تَدَايَنتُم بِدَيْنٍ إِلَى أَجَلٍ مُّسَمًّى فَاكْتُبُوهُ وَلْيَكْتُب بَّيْنَكُمْ كَاتِبٌ بِالْعَدْلِ ...) (البقرة : 282 )
“โอ้บรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าทำสัญญากู้หนี้ยืมสินกันในหนี้สินหนึ่ง โดยมีกำหนดที่แน่ชัด พวกเจ้าก็จงทำบันทึกมันไว้ด้วย และจะต้องมีผู้บันทึกทำการบันทึกในระหว่างพวกเจ้าด้วยความเที่ยงธรรม...” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 2:282)
- ให้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการตกลงไกล่เกลี่ยกัน
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและพยานจำต้องกระทำด้วยความยุติธรรม หากเขาไม่ทำเช่นนั้นเขาจะได้รับโทษทัณฑ์ที่สาหัสหนักหนาสากรรจ์ในวันอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُونُواْ قَوَّامِينَ بِالْقِسْطِ شُهَدَاء لِلهِ وَلَوْ عَلَى أَنفُسِكُمْ أَوِ الْوَالِدَيْنِ وَالأَقْرَبِينَ ...) (النساء : 135 )
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเอง หรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม...” (อัน-นิสาอ์ 4:135)
- ต้องให้มีความชัดเจนหากมีการชำระเงินล่วงหน้า
หากว่าทั้งสองฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายยินยอมอิสลามอนุมัติให้มีการชำระเงินค่าสินค้าและการบริการล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตามท่านศาสนทูตได้ให้อุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ต้องการทำเช่นนั้นว่าต้องให้มีการระบุจำนวนและน้ำหนักอย่างชัดเจน และต้องมีการระบุเวลาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
«مَنْ أَسْلَفَ فِي شَيْءٍ فَفِي كَيْلٍ مَعْلُومٍ، وَوَزْنٍ مَعْلُومٍ إلَى أَجَلٍ مَعْلُومٍ». متفق عليه.
ความว่า “ผู้ใดที่ซื้อขายล่วงหน้า เขาจงซื้อขายล่วงหน้าโดยใช้เครื่องตวงที่แน่นอนที่รู้กันชัดเจน และใช้เครื่องชั่งที่รู้กันแน่นอน ด้วยกำหนดเวลาที่แน่นอน” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2240 โดยตัวบทนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 1604)
- สินค้าที่ขายต้องเหมาะแก่การบริโภค
ท่านศาสนทูตให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก หากว่าผู้ขายรู้ว่าสิ่งนี้ยังไม่เหมาะแก่การบริโภคก็ไม่ควรขายเพื่อสร้างกำไรก่อนกำหนด ท่านศาสนทูตให้คำชี้แนะว่า
« لاَ تَبِيعُوا الثَّمَرَ حَتَّى يَبْدُوَ صَلاَحُهُ »
“จงอย่าขายผลไม้ก่อนที่มันจะสุก (พร้อมสำหรับการบริโภค)” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ 2183 และ มุสลิม 3948)
- หน้าที่ที่ต้องชำระหนี้
หากว่าผู้หนึ่งผู้ใดเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ทั้งๆ ที่มีความสามารถถือว่าเป็นการทำผิดอย่างมหันต์ หากผู้เป็นบิดามารดาของคนหนึ่งคนใดเสียชีวิตไปโดยมีหนี้ติดตัว เป็นหน้าที่ของลูกๆ ที่จะต้องชำระหนี้สินของท่านทั้งสอง ก่อนที่จะมีการแบ่งมรดกให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไป
การค้างชำระหนี้ในระบบการเงินเป็นความผิดที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากสถาบันที่ให้ยืมจะมีหนี้เสียมหาศาล และทำให้พ่อค้าที่ดีไม่สามารถหาสินเชื่อได้ ในกรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสิทธิของผู้ให้ยืมก็ได้รับการปกป้องในอิสลาม ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«نَفْسُ الْمُؤْمِنِ مُعَلَّقَةٌ بِدَيْنِهِ حَتَّى يُقْضَى عَنْهُ»
“วิญญาณของผู้ศรัทธาจะติดอยู่กับหนี้สินของเขา(ไม่สามารถหลุดพ้นเพื่อไปรับผลบุญของเขาได้) จนกว่าหนี้ของเขาจะได้รับการชำระ” (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์ 999 และอิบนุ มาญะฮฺ 2404)
- ความจำเป็นของความรู้ทางธุรกิจ
เนื่องจากการทำธุรกิจมีการแข่งขันและมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นอิสลามสนับสนุนให้นักธุรกิจมุสลิมมีความรู้ที่เกี่ยวข้อง ดังคำพูดที่ว่า “ใครก็ตามมีความต้องการทางโลก เขาต้องมีความรู้ ใครก็ตามต้องการวันอาคิเราะฮฺ เขาก็ต้องมีความรู้ ใครต้องการทั้งสอง เขาก็ต้องมีความรู้” (เป็นคำพูดของท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)
ท่านอิมาม อัล-เฆาะซาลี นักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงได้ให้ความเห็นว่า มุสลิมที่ต้องการจะทำธุรกิจนั้นต้องมีความเข้าใจหลักชะรีอะฮฺที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกต้องในธุรกิจ และอาจทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหายและเสียผลประโยชน์ พวกเขาต้องหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อจะได้ทำธุรกิจประสบผลสำเร็จและถูกต้องตามหลักการอิสลาม
- เพื่อการให้บริการที่ดี
ธุรกิจเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มากกิจกรรมหนึ่ง การดำเนินกิจกรรมในรูปแบบที่ดีและสุภาพเป็นสิ่งสำคัญ ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยให้คำนำว่า “ถ้าหากใครไม่สามารถยิ้มแย้มแจ่มใสได้ เขาไม่สมควรที่ทำการค้าขาย”
จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจอิสลามและแนวคิดและหลักการเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสนทูตประกอบไปด้วยกฎระเบียบศีลธรรมอันดีงามของอิสลามในการทำธุรกิจกฎระเบียบต่างๆนี้มีความเหมาะสมในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน สิ่งนี้แสดงถึงความมีชีวิตชีวาของอิสลาม นักวิชาการและผู้นำนักธุรกิจมุสลิมควรสนับสนุนส่งเสริมให้มีการนำกฎระเบียบธุรกิจอิสลามไปใช้ และแสดงให้เห็นว่าหลักธุรกิจอิสลามเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาการกระทำที่ไม่ดีทางธุรกิจและสร้างหลักศีลธรรมและธรรมาภิบาลธุรกิจที่สูงส่งต่อไป
อ้างอิง :: http://www.islammore.com/view/1664